Midea ผนึกกำลัง HUAWEI, AIS และ China Unicom สร้างโรงงาน 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โรงงานอัจฉริยะ 5G เต็มรูปแบบของไมเดีย ในประเทศไทย
 

ไมเดียจับมือหัวเว่ย, เอไอเอส, และไชน่า ยูนิคอม ในการสร้างโรงงานอัจฉริยะพร้อมระบบ 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างมาตรฐานใหม่ของสายการผลิตอัจฉริยะในประเทศไทยที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย โดยการผนึกกำลังครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ปูทางสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพ, ความปลอดภัย, และรองรับการทำงานร่วมกันแบบอัตโนมัติภายใต้กระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน


ทั้งนี้ เครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั่วพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต 5G+ เชิงอุตสาหกรรม ทำให้กระบวนการผลิตเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ผ่านเทอร์มินัล 5G ความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังติดตั้งไพรเวทเน็ตเวิร์ก 5G แบบเดดิเคท (Dedicated) ที่ได้รับการออกแบบให้รองรับข้อกำหนดกระบวนการทำงานและให้ทำงานร่วมกับระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นโดยเฉพาะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสถานการณ์การผลิตและเชื่อมต่อขั้นตอนการผลิตเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ


นายวินเซ็นท์ ไค ผู้จัดการทั่วไป โรงงานเครื่องปรับอากาศไมเดียประเทศไทย กล่าวว่า “โรงงานอัจฉริยะ 5G ในประเทศไทยได้กำหนดต้นแบบสายการผลิตแห่งโลกอนาคต เพื่อสอดรับกับกลยุทธ์การพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะเต็มรูปแบบของไมเดีย กรุ๊ป โดยเราได้ออกแบบสายการผลิตประสิทธิภาพสูงให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”


ทั้งนี้ โซลูชันหลักที่เสริมศักยภาพให้กับโรงงานอัจฉริยะ 5G ได้แก่:

  • การเชื่อมต่อและการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G: เครือข่าย 5G มอบศักยภาพการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมหาศาลอย่างมีเสถียรภาพ จึงสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลของอุปกรณ์การผลิตแบบเรียลไทม์ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์, ลดเวลาหยุดทำงาน (down time) และเพิ่มศักยภาพการใช้งานอุปกรณ์ในสายการผลิต


รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicles - AGV)

  • รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ 5G (Automated Guided Vehicles - AGV): เทคโนโลยี 5G พลิกโฉมการทำงานของรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (AGV) โดยปลดล็อคข้อจำกัดของ AGV ในการลำเลียงสินค้าแบบดั้งเดิม ที่ใช้การกำหนดเส้นทางล่วงหน้าร่วมกับเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ติดตั้งในพื้นที่ ด้วยการวางแผนเส้นทางแบบมีพลวัตรและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนเส้นทาง ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในสายการผลิตที่ซับซ้อน

ระบบตรวจสอบคุณภาพด้วย  AI ผ่านเครือข่าย 5G ในสายการผลิตไมเดีย ประเทศไทย ช่วยลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน


  • ระบบตรวจสอบคุณภาพด้วย AI ผ่านเครือข่าย 5G: การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มอัตราการผลิตชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบในครั้งแรกถึง 4% ระบบตรวจสอบคุณภาพด้วย AI ช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องนำกลับมาแก้ไขลงจากจำนวน 4,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,000 ชิ้น ลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน และลดอัตราข้อผิดพลาดของชิ้นงานลงถึง 75%
  • แขนกลอัจฉริยะ 5G: พนักงานสามารถควบคุมแขนกลจากระยะไกลผ่านสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ลดการใช้แรงงานคนในบริเวณที่เสี่ยงอันตราย ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของพนักงานและเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงวัสดุที่ใช้ในการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า
  • ห้องควบคุมการปฏิบัติงานระบบ 5G: ห้องควบคุมการปฏิบัติงานจำลองและทดสอบสถานะของคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ข้างนอกผ่านระบบ 5G ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและปราศจากข้อผิดพลาด มาพร้อมโซลูชัน 5G backhaul ที่มีค่าความหน่วงต่ำและระบบป้องกันข้อมูลสูญหาย ทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่างแอปพลิเคชันสำคัญเป็นไปอย่างราบรื่น


ห้องควบคุมการปฏิบัติงานระบบ 5G ในประเทศไทย


ในโครงการโรงงานอัจฉริยะ ผู้ให้บริการเครือข่ายถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยใช้ความเชี่ยวชาญและอีโคซิสเต็มในประเทศไทยเพื่อผลักดันเครือข่าย 5G ให้บรรลุประสิทธิภาพที่เหนือชั้น, มอบการเชื่อมต่อที่ไร้ขีดจำกัด รวมทั้งช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในการดำเนินงาน นายภูผา เอกะวิภาต รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเอไอเอสในการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่า “เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น 5G ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งเดียวที่สามารถสร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่กว่า 160,000 ตร.ม. รวมโรงงานผลิตถึง 3 แห่งเข้าด้วยกันได้ และในอนาคต เอไอเอสยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนนวัตกรรมและผนึกกำลังกับผู้ผลิตระดับโลกในการสร้างโรงงานอัจฉริยะในประเทศไทย”


ในขณะเดียวกัน นส. ยูนิซ เซ, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไชน่า ยูนิคอม โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและไอทีว่า “ความพร้อมของเครือข่าย 5G ของประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียน ทางไชน่า ยูนิคอม มุ่งมั่นสนับสนุนความสำเร็จของนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยสถานการณ์การใช้งานที่ครอบคลุม และสถานการณ์แบบ 5G2B ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและระบบอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ”


นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม “เรามองเห็นแล้วว่า 5G มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพลิกโฉมของภาคอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมการผลิตเองก็ได้แสดงศักยภาพด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพด้วยเทคโนโลยี 5G ให้ประจักษ์ โดยหัวเว่ยยังคงมุ่งต่อยอดความร่วมมือกับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการเครือข่าย และพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยี 5G ต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราได้ทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจกลยุทธ์ดิจิทัลในแต่ละราย และเจาะลึกกระบวนการผลิตและค้นหาความต้องการเฉพาะด้าน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และหลักปฏิบัติจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเร่งนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อยกระดับสายการผลิตอัจฉริยะ”


โรงงานอัจฉริยะ 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอัจฉริยะและยุคอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย และยังได้แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือและนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อร่วมกันกำหนดต้นแบบของเทคโนโลยีการผลิตแห่งโลกอนาคต

ใหม่กว่า เก่ากว่า