SAS ปกป้องเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ในหมู่เกาะกาลาปากอสด้วย AI ที่ขับเคลื่อนโดย Crowd

 

ศูนย์ UNC เพื่อการศึกษาเกาะกาลาปาโกสผนึกกำลังกับผู้นำด้านระบบวิเคราะห์และ AI เพื่อยกระดับการอนุรักษ์และความยั่งยืน


SAS องค์กรที่มุ่งทุ่มเทกับนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบและการใช้เทคโนโลยีเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงทางบวกนั้นกำลังจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ขับเคลื่อนโดย Crowd และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อช่วยปกป้องเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับโครงการล่าสุดของ SAS ที่ช่วยติดตามการตัดไม้ทำลายป่าในป่าอเมซอน SAS ผู้นำด้านระบบวิเคราะห์กำลังทำงานวิจัยอีกหลายโครงการร่วมกันกับศูนย์ UNC เพื่อการศึกษาหมู่เกาะกาลาปาโกส บนหมู่เกาะดังกล่าว ศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมกับ SAS เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่กำลังเผชิญความท้าทายคล้ายคลึงกันทั่วโลก


ในการวิจัย เราได้ให้นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่นใช้แอปพลิเคชัน ConserVision จับคู่ภาพลายบนใบหน้าของเต่าเพื่อช่วยฝึกแบบจำลองคอมพิวเตอร์วิทัศน์ของ SAS เมื่อแบบจำลองสามารถระบุเต่าแต่ละตัวได้อย่างถูกต้อง นักวิจัยจะได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่มีการประมวลผลเร็วกว่าเดิม ช่วยให้ติดตามสุขภาพของเต่าแต่ละตัวและรูปแบบการย้ายถิ่นฐานได้ดีขึ้นแต่ละช่วงเวลา เป้าหมายก็คือในอนาคต โมเดลจะสามารถจดจำใบหน้าจากภาพเต่าทะเลรูปใดก็ได้ ไม่ว่าภาพนั้นจะได้มาจากกลุ่มนักอนุรักษ์หรือนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนก็ตาม


คุณ Sarah Hiser, MSc, Principal Technical Architect แห่ง SAS กล่าวว่า “ในขณะที่ทุกคนบนโลกกำลังเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น เราต้องพัฒนาทุกวิถีทางอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยี เช่น ระบบวิเคราะห์, AI และการเรียนรู้ของเครื่องมาใช้กำหนดปริมาณหรือจำนวนของสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติจะช่วยให้เราเรียนรู้มากกว่าเดิม ช่วยให้ปกป้องระบบนิเวศและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้”


หมู่เกาะกาลาปาโกสไม่ได้มีเพียงแค่เต่าเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถพบได้ที่ใดบนโลก กาลาปาโกสเป็นสวรรค์ของระบบนิเวศสำหรับนักวิจัย นับตั้งแต่คุณชาร์ลส์ ดาร์วินที่ไปถึงที่นั่นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2378 ทั้งยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปาโกส ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ดำเนินงานร่วมกันโดย UNC-Chapel Hill และ Universidad San Francisco de Quito ในประเทศเอกวาดอร์


ดร. Penny Gordon-Larsen รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยแห่ง UNC-Chapel Hill ได้อธิบายว่า “เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปาโกสได้ต้อนรับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับมันสมองผู้มาร่วมทำการวิจัยเชิงนวัตกรรม ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและผลลัพธ์เชิงบวกที่อาจเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างภาครัฐและเอกชนจะยกระดับความสามารถของศูนย์วิจัยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะส่งผลเชิงบวกต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและประชากรที่อาศัยอยู่บนเกาะอันงดงามแห่งนี้”


โดยในขั้นต้น SAS จะช่วยศูนย์ UNC เพื่อการศึกษาหมู่เกาะกาลาปาโกส ในสามโครงการที่มุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตในทะเล ดังต่อไปนี้

  • การจดจำใบหน้าเต่าทะเล นักวิจัยกำลังหาวิธีจดจำเต่าแต่ละตัว รวมทั้งสร้างดัชนีสุขภาพเกี่ยวกับอัตราการเติบโต ภัยคุกคามต่อสุขภาพ และข้อมูลการปรากฏตัวด้วยการใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์และการเรียนรู้ของเครื่อง ข้อมูลที่รวบรวมจากชุดข้อมูลนี้สามารถใช้ทำความเข้าใจรูปแบบการเคลื่อนไหวชั่วคราวและพื้นที่ที่เต่าเดินทางไป และใช้ระบุความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากเศษขยะในท้องทะเล อุบัติเหตุจากการถูกเรือชน โรคร้าย ฯลฯ โดยการสร้างแบบประเมินสุขภาพพื้นฐานสำหรับสัตว์แต่ละชนิด อัตราส่วน ณ เวลานั้นๆ จากการถ่ายภาพแต่ละครั้งจะสามารถใช้เพื่อประเมินสุขภาพเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ ยังสามารถจัดกลุ่มเต่าตามภูมิภาคและพฤติกรรมการเดินทางเพื่อเปรียบเทียบทำดัชนีสุขภาพสัมพัทธ์และสถานที่เมื่อเวลาผ่านไป โดยอาศัยความช่วยเหลือและการมีส่วนร่วมจากนักวิทยาศาสตร์สมัครเล่นและการลงพื้นที่
  • รูปแบบของฉลามหัวค้อน ฉลามหัวค้อนมักจะว่ายออกนอกชายฝั่งในเวลากลางคืน และเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่รูปแบบนี้ให้มากขึ้น โครงการฉลามหัวค้อนมุ่งเน้นไปที่การปรากฏตัวและการหายไปของฉลามกลุ่มนี้ทั้งที่ชายฝั่งและนอกชายฝั่ง โดยเราจะสังเกตการเคลื่อนที่ว่าเป็นไปแบบพร้อมๆ กันและ/หรือสม่ำเสมอหรือไม่ หรือได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำในมหาสมุทร แหล่งอาหาร อุณหภูมิของมหาสมุทร หรือความต้องการความเค็มที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของฉลามกลุ่มนี้หรือไม่ ข้อมูลเชิงลึกสามารถช่วยพัฒนาขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนการทำประมงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • การคาดการณ์แพลงตอนพืช แพลงตอนพืชเป็นรากฐานด้านพลังงานและทรัพยากรพื้นฐานของสายใยอาหารทุกสายบนโลกใบนี้ ดังนั้น การทำความเข้าใจการกระจายตัวเชิงพื้นที่และเวลา รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ในชุมชนของประชากรแพลงก์ตอนพืชนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอนุรักษ์ เป้าหมายของโครงการแพลงตอนพืชคือการเข้าใจปัจจัยทางกายภาพ เคมี และชีวภาพที่มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแต่ทรงพลังเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทร รูปแบบสภาพอากาศ และกิจกรรมของมนุษย์มีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เป็นที่อยู่ของพวกมัน ความสามารถในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ด้านล่างสุดของห่วงโซ่อาหารสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งหมด และในทางกลับกัน ประชากรมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปาโกสเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในหมู่เกาะนี้ เปิดทำการในปี 2554 บนเกาะซานคริสโตบัล เพื่อสนับสนุนการศึกษาแบบสหวิทยาการเกี่ยวกับประชากร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจสอบระบบย่อยทางสังคม บนบก และทางทะเลของเกาะแห่งนี้ Galapagos Initiative ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการวิจัย การศึกษา และโครงการเผยแพร่ โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเพื่อยกระดับการอนุรักษ์ในหมู่เกาะกาลาปาโกส รวมถึงสร้างเสริมให้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อระบบนิเวศและพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทั่วโลก และเป้าหมายสูงสุดก็คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปาโกสจะมุ่งดูแลระบบนิเวศของเกาะให้ดีเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไปในอนาคต


ลองเล่นเกมจับคู่เต่าเพื่อดูการทำงานของแอป ConserVision และศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่ SAS ใช้ Data for Good เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมทั่วโลก


การแถลงรายละเอียดโครงการครั้งนี้จัดขึ้นที่ SAS Innovate ซึ่งเป็นการประชุมเชิงธุรกิจ AI และระบบวิเคราะห์จาก SAS ผู้นำด้านการวิเคราะห์ ติดตาม @SASsoftwareNews บน Twitter สำหรับข่าวสาร สื่อ และการอัปเดตของบริษัท

ใหม่กว่า เก่ากว่า