Lazada Group เผยแพร่รายงานผลกระทบด้าน ESG ฉบับแรก รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ฉบับแรก ได้รับการเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบสิบปี ของลาซาด้า

พร้อมแสดงถึงพันธกิจของกลุ่มบริษัทในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวก
 

ลาซาด้า ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ฉบับแรกของบริษัท “Shaping the Future of the Digital Economy for 2022” หรือ “สร้างอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2565” รายงานดังกล่าว ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทในการใช้อีคอมเมิร์ซเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อยกระดับชุมชน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน และบริหารจัดการผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม


เจมส์ ตง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “นอกจากลาซาด้าฉลองครบรอบ 10 ปีในปีนี้แล้วเรายังเฉลิมฉลองหนึ่งทศวรรษของการค้าดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นับว่าเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่รายงานผลกระทบด้าน ESG ฉบับแรกของเรา ผมมีความยินดีที่จะได้นำเสนอความก้าวหน้าในการเร่งการเติบโตของการค้าดิจิทัลในภูมิภาค พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการดำเนินธุรกิจของลาซาด้า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ความยั่งยืนของเรา ในการเดินทางนี้ ผมพร้อมทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อให้ลาซาด้าสามารถต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เพื่อสร้างอนาคตของระบบนิเวศดิจิทัลที่ยั่งยืนไปด้วยกัน”


นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังนำเสนอกรอบการทำงานด้าน ESG ของบริษัท และหลักสี่ประการ ประกอบด้วย การเสริมพลังชุมชน บุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต การดูแลการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ และการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ โดยได้เน้นถึงความสำเร็จที่โดดเด่นของบริษัทภายใต้หลักทั้งสี่ประการ ดังนี้:




การเสริมพลังชุมชน

  • ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค: ในทั้งหกประเทศลาซาด้าได้สร้าง 1.1 ล้านโอกาสทางเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบนิเวศของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งประกอบด้วยผู้ขาย ผู้ให้บริการการค้าดิจิทัล คู่ค้าโลจิสติกส์ รวมถึงพนักงาน
  • การบริการ โครงสร้างพื้นฐานและการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อส่งเสริมชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:
    • พันธกิจของลาซาด้าในการตอบแทนสังคมและชุมชน ด้วยโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัว เช่น การรับมือกับโควิด-19 และการบรรเทาภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปีแรก ๆ ของการดำเนินธุรกิจของลาซาด้า
    • ลาซาด้าทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาโครงการสนับสนุนผู้หญิงในการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงยกย่องผู้ประกอบการหญิงที่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจให้เติบโตกับลาซาด้า เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ลาซาด้าได้ยกย่องผู้ประกอบการหญิงในภูมิภาค 18 ราย ด้วยการมอบรางวัลสุดยอดผู้ประกอบการหญิงจากลาซาด้า ประจำปี 2565 (Lazada Forward Women Awards 2022)


บุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต

  • สภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างสำหรับพนักงาน: ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พนักงานโดยรวมของทั้งลาซาด้า กรุ๊ป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 18% และมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงถึง 43% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 32%
  • การพัฒนาชุดทักษะและความรู้สำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลในวงกว้าง: ลาซาด้าได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยลาซาด้า (Lazada University) โครงการการศึกษาที่จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ขาย และเทศกาลการเรียนรู้ลาซาด้า ประจำปี 2565 (Lazada Learning Festival 2022) ซึ่งเป็นเทศกาลการเรียนรู้เสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคคลทั่วไป

การดูแลการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ

  • ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ลดลง: ลาซาด้าเริ่มใช้บัญชีคาร์บอนพื้นฐานเพื่อระบุแหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งผลลัพธ์จากการจัดทำบัญชีคาร์บอนดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของลาซาด้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การลดการใช้วัสดุและมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจหมุนเวียน: เรดมาร์ท (RedMart) ธุรกิจของชำโดยลาซาด้า สิงคโปร์ ได้เลี่ยงการใช้พลาสติกผลิตใหม่ราว 30 ตัน ด้วยการเปลี่ยนขวดน้ำฉลากเรดมาร์ทมาเป็นวัสดุพลาสติก PET รีไซเคิล 100%

การกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ

  • มาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น: ลาซาด้าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่กี่รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองตาม ISO 27001:2013 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับนานาชาติในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศที่วางแนวทางแบบองค์รวมในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับการรักษาข้อมูล
  • แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา: ลาซาด้าเป็นบริษัทการค้าดิจิทัลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทีมงานด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) โดยเฉพาะ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ทีมงานดังกล่าวได้มีการตรวจจับเชิงรุกและการนำสินค้าลอกเลียนแบบออกจากแพลตฟอร์ม ส่งผลให้มีการขจัดเชิงรุกก่อนที่จะเกิดธุรกรรมได้ 98% ในปี 2564



แฟรงค์ หลัว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “ความก้าวหน้าที่เราได้บรรลุในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เป็นรากฐานความสำเร็จและทิศทางที่ยั่งยืน ในการขับเคลื่อนผลกระทบด้าน ESG ของเรา ในฐานะผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้ามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งเพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย แนวทางของเราคือการใช้ 'กรอบความคิดแบบระบบนิเวศ' (ecosystem mindset) ด้วยการเพิ่มการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกร่วมกัน"


ล่าสุด ลาซาด้า โลจิสติกส์ ในประเทศอินโดนีเซีย ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (พลาสติก) จากรางวัล B20 Sustainability 4.0 Awards ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างยุโรปกับอินโดนีเซียและเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุม B20 อินโดนีเซีย ประจำปี 2565 (B20 Indonesia 2022) รางวัลอันทรงเกียรตินี้ยกย่องธุรกิจและบุคคลที่ปลูกฝังแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในกลยุทธ์และกระบวนการ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม


รายงานผลกระทบ ESG ประจำปีงบประมาณ 2565 ของลาซาด้า จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการจัดทำรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับปี 2564


อ่านรายงานผลกระทบ ESG ประจำปีงบประมาณ 2565 “Shaping the Future of the Digital Economy for 2022” หรือ “สร้างอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2565” ฉบับเต็มได้ ที่นี่

ใหม่กว่า เก่ากว่า