สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ได้ฤกษ์เปิดการประชุม Mobile 360 Asia-Pacific 2022 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 5 ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เซาท์บีช ประเทศสิงคโปร์ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเหล่าผู้สร้างนวัตกรรมจะมาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทคโนโลยี 5G และการเสริมสร้างให้เกิด Digital Nations เพื่อการเติบโตของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในงานนี้จะเผยให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเมตะเวิร์สมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในสังคมระดับมหภาคอย่างไร ดังปรากฎในรายงานสังคมดิจิทัลประจำปีของสมาคมจีเอสเอ็ม ซึ่งจัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่เจ็ด และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานนี้
การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่สำคัญมากล่าวเปิดงาน ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐของประเทศสิงคโปร์ สิงเทล (Singtel) เอเซียต้า (Axiata) สหภาพการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) ควอลคอมม์ (Qualcomm) และหัวเว่ย (Huawei) โดยทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความสำคัญที่แต่ละประเทศต้องส่งเสริมกลยุทธ์เชิงดิจิทัลเพื่อยกระดับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและสร้างให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจยุคหลังการระบาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดร.จานิล ปุทธิวเชียรี รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ และกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์เป็นผู้กล่าวเปิดงานในหัวเรื่องการสร้าง Digital Nations ซึ่งได้แบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์เรื่องขีดความสามารถด้านดิจิทัล การสร้างพันธมิตรและความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้าง Digital Nations
ดร.จานิล ปุทธิวเชียรี กล่าวว่า “การกำหนดวิสัยทัศน์ด้านอนาคตทางดิจิทัลของประเทศสิงคโปร์ต้องอาศัยหลายปัจจัยและใช้วิธีการที่หลากหลาย การลงทุนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นเพื่อสร้างสาธารณูปโภคเชิงดิจิทัลที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมกันนี้ต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยให้ก้าวหน้า หน่วยงานของรัฐก็ต้องทบทวนกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้ทุกภาคส่วนรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้นทุกวัน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลและพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค อันมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการเพิ่มความสามารถทางดิจิทัลเพื่อให้ภาคเอกชนและภาคแรงงานสามารถขยายโอกาสทางการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้”
บุกเบิกสู่พรมแดนต่อไปของการเชื่อมโยงสังคมดิจิทัล
หัวข้อของการประชุม Mobile 360 Asia Pacific ยังจะมุ่งเน้นไปที่นัยสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ นวัตกรรม การเชื่อมโยงทางดิจิทัล และนโยบายเชิงดิจิทัล เสริมด้วยข้อมูลเชิงลึกจากรายงานสังคมดิจิทัลประจำปี 2022 ของสมาคมจีเอสเอ็ม โดยวิทยากรรับเชิญจะมาแบ่งปันข้อมูลว่าภาคอุตสาหกรรมจะไปสู่เส้นชัยต่อไปได้อย่างไรในยุคใหม่ของสังคมอัจฉริยะ และจะสร้างเส้นทางสู่เครือข่ายดิจิทัลให้ตอบสนองต่อความต้องการในสังคมดิจิทัลอย่างไร รวมถึงการส่งเสริมด้านนโยบายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล
“ภูมิภาคของเรานั้นเต็มไปด้วยความชัดเจนและหลากหลายในด้านการเชื่อมโยงดิจิทัล และผมเฝ้ารอที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่านในเรื่องการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีอันก้าวล้ำในทุกวันนี้ได้อย่างไร ในขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่ทุกภาคส่วนมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้ Digital Nations ของเราเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” จูเลียน กอร์แมน ประธานสมาคมจีเอสเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
สมาคมจีเอสเอ็มจะประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัล Digital Nations Award ของงาน Mobile 360 ในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยผู้ชนะมาจากการนำเสนอผลงานในหัวข้ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีบทบาทต่อการเข้าถึงข้อมูลสำคัญอย่างไร รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล การเชื่อมต่อกับส่วนที่การสื่อสารเข้าไม่ถึง และช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เผยรายงานสังคมดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2022 ของสมาคมจีเอสเอ็ม
ข้อมูลจากรายงานสังคมดิจิทัล ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่เจ็ดเผยให้เห็นถึงความคืบหน้าของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยในรายงานฉบับนี้ สมาคมจีเอสเอ็มได้เรียกร้องให้เพิ่มระดับความร่วมมือในการบูรณาการด้านการบริการดิจิทัลในทุกส่วนของภาคเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศสิงคโปร์ เจ้าภาพของการประชุมในปีนี้และในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลของกลุ่ม ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำของ Digital Nations สิงคโปร์ได้สร้าง Singpass ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จที่สุดมาให้บริการภายในประเทศ และมีผู้ใช้งานกว่า 4.5 ล้านคน คิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปี
เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ที่ทำคะแนนสูงสุดด้านความเป็นพลเมืองดิจิทัลของดัชนีสังคมดิจิทัล (Digital Society Index) โดยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อัตราการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากอัตราน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2011 มาเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021
ข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ จากรายงานประจำปี ได้แก่:
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นบ้านของโปรแกรมการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ตัวอย่างเช่นโปรแกรม Aadhar ของประเทศอินเดียที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1.3 พันล้านคน และในประเทศเวียดนามเมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานท้องถิ่น 59 จังหวัดจาก 63 จังหวัดได้นำโปรแกรมดิจิทัลมาใช้งานและพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอีก 5 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้มีถึง 41 จังหวัดที่กำลังพัฒนาบริการต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้
บริการด้านดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจทุกขนาดในทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ จากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเอเชียแปซิฟิกจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเศรษฐกิจจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจได้มากกว่า 1.7 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือมากกว่า 8.6 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 5 ปี จนถึงปี 2025
เทคโนโลยีดิจิทัลได้ขับเคลื่อนการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ ในประเทศอินโดนีเซียได้นำร่องโครงการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำให้ประชาชนสูญเสียงานกว่า 409,000 ตำแหน่งในช่วงวิกฤต โดยโครงการนี้ทำให้เกิดการขยายเครือข่าย 4G ไปยังกว่า 12,548 หมู่บ้านเพื่อช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้กับศูนย์เครือข่ายการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย
พันธมิตรเพื่อความสำเร็จด้านดิจิทัล
“เรามีความยินดียิ่งที่ได้นำผู้คนในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มารวมตัวกันในการประชุม Mobile 360 Asia Pacific 2022 ครั้งนี้ เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนโอกาสใหม่ ๆ ในภายภาคหน้า พร้อมกันนี้ผมขอขอบคุณการสนับสนุนอันดีจากเครือข่ายพันธมิตรและผู้สนับสนุนทุกรายที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีเสมอมา” จูเลียน กอร์แมน กล่าว
โดยพันธมิตรและผู้สนับสนุนของการประชุม Mobile 360 Asia Pacific 2022 ประกอบด้วยหน่วยงานพัฒนาสื่อสารสนเทศแห่งสิงคโปร์ ในฐานะพันธมิตรหลักของการประชุม ร่วมด้วยสิงเทล ออปตัส และเอ็นซีเอส ในฐานะพันธมิตรด้านโทรคมนาคม และบอร์นทูโกลบอล (Born2Global) ในฐานะพันธมิตรด้านนวัตกรรมและการลงทุน หัวเว่ยในฐานะผู้สนับสนุนงาน และเคที ในฐานะผู้สนับสนุนด้านการเชื่อมต่อ