Schneider Electric เดินหน้ารุกต่อเนื่องเรื่องความยั่งยืนลั่นมีเทคโนโลยีดิจิทัลพร้อม สอดรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy


ชไนเดอร์ อิเล็คทริค(Schneider Electric) ผู้นำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ด้านการจัดการพลังงานและระบบออโตเมชัน ร่วมมือกับองค์กร iMasons จัดงานเสวนา ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนเพื่อองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ‘ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี (Bio-Circular-Green) ชูแนวทางตอบโจทย์ลูกค้าที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในด้านการจัดการพลังงานและช่วยให้โลกดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

สเตฟาน นูสส์ (Mr. Stephane NUSS) ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดเผยว่า “ปี 2565 นั้นถือเป็นนิมิตหมายที่สำคัญไม่เฉพาะกับ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค แต่เป็นย่างก้าวที่สำคัญของทุกอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่ามีการพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกันมาสักระยะ แต่ด้วยขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายกระบวนการที่ต้องเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านพลังงานโดยเฉพาะระบบไฟฟ้าในธุรกิจ จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล ที่จะทำให้ทุกๆ เรื่องของการใช้พลังงานทำได้อย่างยืดหยุ่น เหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุด บวกกับเทรนด์โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่อย่าง BCG Economy (Bio, Circular, Green) ที่เป็นมากกว่าเรื่องพลังงานสีเขียว แต่เรากำลังเดินเข้าสู่ยุคที่การทำธุรกิจต้องตอบโจทย์ทางด้านผลกำไรด้วย และยังต้องสามารถส่งเสริมทำให้โลกใบนี้อยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากโซลูชันด้านบริหารจัดการพลังงานและระบบออโตเมชั่น ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอยู่แล้ว สิ่งที่ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจมาโดยตลอดก็คือ ความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ทำเฉพาะภายในบริษัทหากแต่ได้มีการเชิญชวนและร่วมมือกับพันธมิตร ลูกค้า ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ ได้เชื่อมโยงกันผ่านภารกิจเพื่อปรับปรุงและจัดการพลังงานในโลกให้ดีขึ้น โดยได้อัพเดตถึงสิ่งที่ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ลงมือทำและพัฒนา ซึ่งแนวทางหลักยังคงมุ่งเน้นไปที่ การร่วมเป็นพันธมิตรด้านดิจิทัลกับทุกองค์กรในประเทศไทย เพื่อการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ช่วยองค์กรลูกค้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 134 ล้านตันคาร์บอน ในช่วงปี 2561-2563 และเมื่อรวมในไตรมาสแรกของ 2564 เท่ากับ 276 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า รายได้บริษัทมาจากโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถึง 80% ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า โซลูชันของบริษัทเน้นไปที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้โลกต่อไป

“ทุกประเทศบนโลกตื่นตัวกับเรื่องความยั่งยืน สำหรับประเทศไทยนั้นมีความตื่นตัวทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ การใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และที่สำคัญการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบไฟฟ้า เป็นการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่ความยั่งยืนที่อัจฉริยะกว่าและรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า” สเตฟาน กล่าว

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้แบ่งเป้าหมายเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือปฏิบัติการที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของ ชไนเดอร์ฯ เอง และสองคือส่วนที่จะไปขยายผลในองค์กรของลูกค้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้รับการยกย่องว่าเป็น องค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในโลกประจำปี 2021 (2021 Global 100 Most Sustainable Corporations) จากองค์กร 100 แห่งทั่วโลก โดย Corporate Knights ทำให้สร้างความมั่นใจได้ว่า ชไนเดอร์ฯ มีพิมพ์เขียวแห่งความสำเร็จอยู่ในมือ และมีความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืนที่อยู่เคียงข้างให้กับองค์กรของลูกค้า ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 จะต้องสามารถทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเท่ากับส่วนที่ดูดซับกลับโดยผืนป่า (Carbon Neutral) และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2573 และที่สำคัญคือมอบความสำเร็จนี้ให้กับพันธมิตรและลูกค้านำไปใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

โรงงานของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู นับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญด้านความสำเร็จในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ครอบคลุมถึง 22% ของการใช้พลังงานทั้งหมดต่อปี หรือคิดเป็น 60% ในช่วงระหว่างการทำงานในเวลากลางวัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 686 ตันต่อปี ทั้งหมดนี้คิดเป็น Zero investment หรือการลงทุนเป็นศูนย์ สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในระบบโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลดีในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

“ความคุ้มค่าของการลงทุนทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สะท้อนกลับไปสู่การทำให้โลกใบนี้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็น DNA ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เรา” สเตฟานกล่าวทิ้งท้าย
ใหม่กว่า เก่ากว่า