Microsoft ประเทศไทย คว้ารางวัลจากสองเวที เน้นย้ำความสำเร็จด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ในฐานะ ‘บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดแห่งปี’ 3 ปีซ้อน และองค์กรดีเด่นด้านความเท่าเทียมทางเพศ

 

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัล “บริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย” (Best Companies to Work for in Asia) โดย เอชอาร์ เอเชีย ติดต่อกันสามปีซ้อน พร้อมคว้าอีกหนึ่งรางวัลจากเวที UN Women 2021 Thailand WEPs Awards โดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติและสหภาพยุโรป ในสาขา “สถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ” โดยทั้งสองรางวัลต่างตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดกว้าง มอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมทำความเข้าใจในแนวคิดที่หลากหลาย พร้อมบุกเบิกนวัตกรรมที่มาจากความคิดเห็น มุมมอง และข้อเท็จจริงที่รอบด้าน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้งองค์กรและบุคลากร


นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รางวัลทั้งสองนับว่าเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความสำคัญของการเปิดรับความหลากหลาย และการทำความเข้าใจในตัวผู้อื่น ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของไมโครซอฟท์ ทั้งในบทบาทของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโลกของเราให้เดินหน้าต่อไป และในฐานะองค์กรและผู้จ้างงานที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก ผมขอมอบทั้งสองรางวัลให้กับทีมงานของไมโครซอฟท์ทุกคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันภายใต้แนวคิด ‘One Microsoft’ และยังคงเดินหน้าสนับสนุนทั้งลูกค้าและเครือข่ายพันธมิตรมาโดยตลอด แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอดปีที่ผ่านมา”



รางวัลบริษัทดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย โดย เอชอาร์ เอเชีย มีที่มาจากผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานภายในองค์กร โดยได้รับเกียรติในการพิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้เกณฑ์การตัดสินด้วยโมเดลการประเมินการมีส่วนร่วมโดยรวม หรือ Total Engagement Assessment Model (TEAM) ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพนักงาน 3 ประการ ได้แก่

  • องค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Collective Organization for Real Engagement: CORE) ซึ่งประกอบด้วยการประเมินด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม ความเป็นผู้นำและองค์กร และความคิดริเริ่มที่มีการดำเนินงานอยู่
  • การมีส่วนร่วมระดับบุคคล (Self: Heart, Mind & Soul) ประกอบด้วยการประเมินการมีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์ ความตั้งใจและแรงจูงใจ และพฤติกรรมและการสนับสนุน
  • การมีส่วนร่วมระดับกลุ่ม (Group: Think, Feel & Do) ประกอบด้วยการประเมินการตระหนักรู้ร่วมกัน สภาพอารมณ์ภายในสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมและการทำงานร่วมกันของทีม


ส่วนรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU)  นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล WEPs Awards ในประเทศไทย โดยรางวัลนี้มุ่งเน้นย้ำถึงบทบาทขององค์กรเอกชนในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ภายใต้หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles) ซึ่งเป็นหลัก 7 ประการสำหรับการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงในโลกธุรกิจ และเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจและเศรษฐกิจ

 

นายธนวัฒน์กล่าวเสริมอีกว่า “สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว ความหลากหลายและเท่าเทียมนับเป็นหัวใจสำคัญของพันธกิจของเราในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลก ความมุ่งมั่นในด้านนี้ของเราได้สะท้อนออกมาเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดให้ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกโดยเป็นตัวของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมการด้าน Diversity & Inclusion ขึ้นในองค์กร พร้อมด้วยนโยบายและสวัสดิการที่พร้อมรองรับความต้องการที่หลากหลายของพนักงาน เช่นการเตรียมห้องเฉพาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องปั๊มน้ำนม การเปิดให้พนักงานหญิงสามารถลาคลอดได้เกินกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด พร้อมเปิดให้พนักงานชายสามารถลางานเพื่อไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้เช่นกัน นอกจากนี้ เรายังมีโครงการและกิจกรรมอีกมากมายที่มุ่งส่งเสริมทั้งความเท่าเทียม สุขภาพกายและสุขภาพจิต และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานแต่ละคนอย่างรอบด้าน”

ใหม่กว่า เก่ากว่า