LG เผยผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ผลประกอบการประจำไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แข็งแกร่งต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและผลิตภัณฑ์ทีวีระดับพรีเมียมของแอลจี


 แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 โดยมีผลประกอบการรวมที่ 1.623 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเติบโตขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยังเป็นผลประกอบการประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแอลจี อีเลคทรอนิคส์ ทางบริษัทยังมีผลกำไรที่แข็งแกร่งในไตรมาสดังกล่าว แม้จะถูกหักลบไปบางส่วนเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหนึ่งครั้ง โดยกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 466.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาท) ลดลง 49.6 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงงบสำรองที่ 415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.37 หมื่นล้านบาท)


กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ รายงานรายได้ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.01 แสนล้านบาท) พร้อมกำไรจากการดำเนินงานที่ 436.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท) โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 14.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ส่งผลให้มียอดขายมากกว่า 7 ล้านล้านวอนเป็นครั้งแรกเนื่องจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทวีปอเมริกาและยุโรป โดยแอลจีคาดหวังว่าความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงานจะช่วยให้บริษัทรักษาแรงขับเคลื่อนการเติบโตเอาไว้ได้ แม้จะมีอัตราที่ช้าลงเนื่องจากต้นทุนด้านวัตถุดิบที่สูงขึ้น


กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีรายได้ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 ที่ 3.61 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.19 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้น 13.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์มีรายได้ประจำไตรมาสที่มากกว่า 4 ล้านล้านวอนอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของความต้องการที่มีต่อผลิตภัณฑ์พรีเมียม เช่น ทีวี OLED และทีวีที่มีจอขนาดใหญ่ ในตลาดที่มีความสำคัญในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป โดยกำไรจากการดำเนินงานที่ 179.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 5.94 พันล้านบาท) เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาที่เพิ่มขึ้นของชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น แผงแอลซีดี เป็นต้น


กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มีรายได้ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ขาดทุน 464.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.53 หมื่นล้านบาท) ซึ่งการขาดทุนนี้รวมการจ่ายเงิน 480 พันล้านวอนจากการที่เจเนรัล มอเตอร์เรียกคืนรถพลังงานไฟฟ้าเชฟวี่โบลต์ (Chevy Boly EV) กลับมาตรวจสอบ แม้ว่าในระดับอุตสาหกรรมจะมองเห็นความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นรวมถึงรถพลังงานไฟฟ้าในไตรมาสนี้ แต่ตลาดยานยนต์ทั่วโลกประสบปัญหาการหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ ในไตรมาสที่ 4 บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกผ่านความร่วมมือที่มากขึ้นกับบริษัทรับจ้างผลิตรถยนต์และผู้ให้บริการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ 

กลุ่มธุรกิจโซลูชันสำหรับองค์กร มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ที่ 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 4.82 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13.9 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์หน้าจอแสดงข้อมูล พีซี และจอมอนิเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยของกลุ่มธุรกิจ B2B การขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 10.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3.5 ร้อยล้านบาท) เกิดจากราคาชิ้นส่วนหลักที่สูงขึ้น ได้แก่ แผงจอ LCD เซมิคอนดักเตอร์ และโซลาร์เวเฟอร์ โดยในไตรมาสสุดท้าย บริษัทมีแผนที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายเชิงรุกในกลุ่มธุรกิจ B2B ที่กำลังฟื้นตัว พร้อมกับการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 

ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไตรมาสที่ 3 ปี 2564  

รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย) 
ใหม่กว่า เก่ากว่า