depa เดินหน้าโครงการ Coding in your area ลุยปั้น ‘เยาวชนโค้ดดิ้ง’ ทั่วประเทศ ก่อนต่อยอดสู่โครงการ Codekathon ค้นหาสุดยอดเยาวชน พลิกโฉมโลกด้วยโค้ดดิ้ง

 

ดีป้า เดินหน้าโครงการ Coding in your area จุดประกายโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัว พร้อมปั้น “เยาวชนโค้ดดิ้ง” ทั่วประเทศกว่า 15,000 คน ก่อนต่อยอดสู่โครงการ Codekathon เพื่อค้นหาสุดยอดเยาวชน พลิกโฉมโลกด้วยโค้ดดิ้ง กว่า 700 คน


ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งยกระดับทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ โดยหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กและเยาวชนทุกคนควรต้องเข้าถึงคือ “โค้ดดิ้ง”


โดย ดีป้า ร่วมกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชนไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาแพลตฟอร์ม CodingThailand.org แหล่งการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งที่มีผู้เข้าถึงมากกว่า 1 ล้านคน การส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานแก่โรงเรียน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งอย่างแท้จริง รวมถึงการผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งที่จะช่วยเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาทักษะการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครู



ล่าสุด ดีป้า พร้อมดำเนิน โครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น (Coding in your area) เพื่อจุดประกายการเรียนโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ผ่านการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในท้องถิ่นแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ เพื่อปั้น “เยาวชนโค้ดดิ้ง” จำนวนกว่า 15,000 คน ครอบคลุมนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่เขตเมือง/นอกเขตเมือง โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนกองทุน และโรงเรียนเฉพาะความพิการ


“ทีมงานจะลงพื้นที่จัดกิจกรรมถึงห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือฝึกปฏิบัติ สัมผัสอุปกรณ์จริง และมีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ด้วยหลักสูตร 1 วันที่ร่วมพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาค 5 แห่ง เพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ จะมีขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว



สำหรับการปั้นเยาวชนโค้ดดิ้งในพื้นที่ภาคเหนือ รับหน้าที่โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกโค้ดผ่านตัวอย่างที่หลากหลาย อาทิ เครื่องวัด PM 2.5 แจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ และควบคุมสเต็ปมอเตอร์ปล่อยเมล็ดพืชปลูกป่าทางโดรน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สอนนักเรียนโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาโรงเลี้ยงปูนาอัจฉริยะ และเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำหมักปลาร้า พื้นที่ภาคตะวันกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รับหน้าที่โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นักเรียนจะได้ฝึกโค้ดผ่านอุปกรณ์จำลองสวนอัจฉริยะบนคอนโด และอุปกรณ์ Security Home บ้านอุ่นใจ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับหน้าที่จุดประกายโค้ดดิ้งนักเรียนผ่านตัวอย่างเซนเซอร์วัดน้ำหนักน้ำยางพารา และกระชังปลาครอบครัวอัจฉริยะ ในส่วนของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่จะพานักเรียนโค้ดดิ้งเพื่อสร้างระบบฟาร์มแพะอัจฉริยะ และมัสยิดอัจฉริยะ


นอกจากนี้แต่ละมหาวิทยาลัยยังมีตัวอย่างนวัตกรรมอีกมากมาย รวมกว่า 30 นวัตกรรมที่จะใช้เป็นสื่อการเรียนรู้โค้ดดิ้งด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายอย่าง micro:bit, KidBright และ Arduino  โดยโรงเรียนที่สนใจให้มหาวิทยาลัยพันธมิตรประจำภูมิภาคเข้าไปจุดประกายนักเรียนถึงห้องเรียนสามารถสมัครในนามโรงเรียนได้แล้ววันนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้


ภายหลังจากปูพื้นฐานโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศแล้ว ดีป้า ยังเตรียมโครงการต่อยอดความรู้ด้านโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนกว่า 700 คน ผ่านโครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมอัจฉริยะ (Codekathon) โดยมีมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมพัฒนาหลักสูตร ซึ่งผู้เรียนจะได้ลงมือโค้ดดิ้งสร้างสรรค์นวัตกรรมอัจฉริยะเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน เพื่อแก้ไข Pain point รอบตัว ด้วยหลักสูตรเข้มข้น 4 วัน ครอบคลุมเนื้อหา Smart Farm, Smart Living, Smart Community และ Smart Environment พร้อมประกวดแข่งขัน ค้นหาสุดยอดเยาวชน พลิกโฉมโลกด้วยโค้ดดิ้ง ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยโครงการ Codekathon จะเปิดรับสมัครนักเรียนภายในเดือนธันวาคมนี้ และมีแผนลงพื้นที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศภายในเดือนมีนาคม 2565

ใหม่กว่า เก่ากว่า