Things On Net ผนึก สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ติดอาวุธนักพัฒนา Software และ IoT


ติงส์ ออน เน็ต และ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาอาชีพ ศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และไอโอทีของไทย ตลอดจนต่อยอดผลงานและการวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรม โซลูชัน และแอปพลิเคชันใช้งานจริงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน


นายปวิณ วรพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด เปิดเผยว่า ทั้งสององค์กรมีเป้าหมายร่วมกันคือ ต้องการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาศักยภาพ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีไอทีให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของไอโอทีอีโคซิสเต็ม (IoT Ecosystem) ในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไอโอทีเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์” (Digital Thailand) พร้อมที่จะแข่งขันด้านดิจิทัลบนเวทีโลก

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผนึกความเชี่ยวชาญของ ติงส์ ออน เน็ต และ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีไอโอทีให้กับกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย โดย ติงส์ ออน เน็ต จะร่วมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอโอทีมาช่วยเสริมทักษะเชิงลึกด้านเทคโนโลยีไอโอที และให้คำแนะนำปรึกษาให้แก่สมาชิกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ บริษัทพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ไอโอที และเทคโนโลยีโครงข่าย ซิกฟอกส์ (Sigfox) ในกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ อีกด้วย”

นายไพบูลย์ พนัสบดี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือกับติงส์ ออน เน็ต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้นำไอโอทีโซลูชันครบวงจรด้วยโครงข่ายเทคโนโลยีสื่อสารชั้นนำระดับโลกครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับนักพัฒนาซอฟต์แวร์และไอโอทีของประเทศ ตรงตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาองค์ความรู้ ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ รวมถึงต่อยอดงานวิจัยจากภาควิชาการไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม โซลูชัน และแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยีไอโอทีที่ใช้งานได้จริง”

ปัจจุบัน ติงส์ ออน เน็ต เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอทีโซลูชันครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายระดับโลก พร้อมบริการและอุปกรณ์พร้อมใช้งานครอบคลุมทุกธุรกิจ อาทิ Smart City & Smart Building ระบบเมืองอัจฉริยะและอาคารอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย, Cold Chain Management ระบบตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้นสำหรับตู้แช่สินค้า ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งในอุตสาหกรรมค้าปลีก หรือธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพความเย็นที่เหมาะสม ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการวางจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภค, ระบบ Asset tracking ผู้ช่วยติดตามพัสดุภัณฑ์และทรัพย์สินมูลค่าสูง ทั้งในและนอกสถานที่, ระบบ Safety and Environmental สามารถตรวจวัดอุณหภูมิและคุณภาพอากาศ เพื่องานด้านความปลอดภัยในการบริหารงาน Facility management และระบบ Energy saving ช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด



สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (Thai Programmer Association) มุ่งมั่นสร้างเครือข่ายของโปรแกรมเมอร์เพื่อพูดคุย และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมมิ่ง ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ 6 ข้อ ดังนี้ 

1) เพื่อสร้างเครือข่ายของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้รู้จัก ช่วยเหลือ และแบ่งปันความรู้กัน 
2) เพื่อพัฒนาทักษะด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Technical Skill) และ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน (Soft Skill) ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 
3) เพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากการถูกผู้ว่าจ้างเอาเปรียบ และช่วยเหลือผู้ว่าจ้างจากการโดนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทิ้งงาน 
4) เพื่อยกระดับภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสายอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 
5) เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้แสดงศักยภาพ หรือสร้างความร่วมมือ 
6) เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์
ใหม่กว่า เก่ากว่า