Visa เปิดตัวโครงการฟื้นฟูธุรกิจช่วยผู้ขายบน Social Commerce เปิดรับชำระเงินผ่านระบบดิจิตอล


วีซ่า ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลชั้นนำระดับโลก ประกาศเปิดตัวโครงการให้กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าบนโซเชี่ยลคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายรายย่อย หรือร้านค้าออนไลน์ (“ผู้ขาย”) สามารถเปิดรับการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอล โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ปรับตัวเข้ากับพฤติกรรม   “นิวนอร์มอล” ของผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้ขายในประเทศไทยมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาเช่นนี้และอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

โครงการ “Everyone Speaks Visa” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง วีซ่า และบริษัทฟินเทคชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย)บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์ หรือ เคจีพี (KGP), บริษัท โอมิเซะ จำกัดบริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัดและ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ในการมอบเครื่องมือใหม่ในการดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ขาย ซึ่งหมายความว่า พ่อค้า-แม่ค้ารายบุคคล ร้านค้าไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ที่ขายของอยู่บนโซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส หรือแพลตฟอร์มไลฟ์แชท จะสามารถเปิดรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพดของวีซ่าได้อย่างสะดวกมากขึ้น

 

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า วีซ่า ภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุนธุรกิจในประเทศไทยไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ตลอดมา และมีส่วนร่วมช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นเจริญเติบโตผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆ เราตระหนักดีว่าผู้เล่นรายเล็ก เช่น พ่อค้า-แม่ค้า และร้านค้าขนาดย่อมต้องการความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ทั้งระบบอีโคซิสเท็มและพฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังปรับตัวเข้าสู่ “นิวนอร์มอล” นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่าย ร่วมมือกับบริษัทฟินเทคชั้นนำในประเทศไทย พัฒนาโครงการยื่นมือเข้าช่วยกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอล ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

 

ระหว่าง 22 มีนาคม ถึง เมษายนที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร้านค้าออนไลน์มีออเดอร์ผ่านเว็บไซต์โตขึ้นถึง 23 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี และในช่วงเวลาเดียวกัน ร้านค้าที่มีหน้าร้านก็มียอดการสั่งซื้อในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 82 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลจากการปิดตัวของร้านค้า สต็อกสินค้าในร้านมีจำกัด และการสั่งซื้อสินค้าจากทางบ้านที่เพิ่มมากขึ้น

 

จากผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในประเทศไทยโดย วีซ่า พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (54 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าพวกเขามีประสบการณ์ที่ดีในการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าไปซื้อที่ร้านค้าโดยตรง นอกจากนี้ 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยที่ตอบแบบสำรวจตั้งใจที่จะหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน 7 ใน 10 (69 เปอร์เซ็นต์) ของคนไทยคิดว่าจะไม่กลับไปใช้เงินสด ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยจะใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และแอปพลิเคชั่นการชำระเงินบนสมาร์ทโฟนแทน

 

ในปีที่ผ่านมาผู้บริโภคในประเทศไทยกว่า 34 ล้านคน ได้ทำการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 137,000 ล้านบาท วิธีการชำระเงินที่ได้ความนิยมมากที่สุดได้แก่ บัตรเครดิต (32 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วย อี-วอลเล็ต (25 เปอร์เซ็นต์การโอนเงินผ่านธนาคาร (20 เปอร์เซ็นต์) เงินสด (12 เปอร์เซ็นต์) และอื่นๆ (11 เปอร์เซ็นต์)

 

โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์สามารถเข้าร่วมโครงการได้ง่ายๆ ด้วยการสมัครผ่านเว็บไซต์ www.visa.co.th หรือคลิกที่นี่ โดยสามารถศึกษารายละเอียดและเลือกพันธมิตรผู้ให้บริการการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลได้ด้วยตนเอง เมื่อนำส่งเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว ผู้ขายสามารถเริ่มรับชำระเงินผ่านระบบดิจิตอลของวีซ่าได้ภายในหนึ่งวัน  นอกจากนี้วีซ่ายังได้เปิดตัวแคมเปญทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของการรับชำระเงินผ่านวีซ่า ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย

 

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขายหันมาใช้การรับชำระเงินผ่านระบบดิจิตอลมากขึ้น วีซ่าได้เตรียมมอบรางวัล 5,000 บาท สำหรับผู้ค้ารายใหม่ 20 อันดับแรกที่มีจำนวนธุรกรรมมากที่สุดในแต่ละเดือน โดยโครงการนี้จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2563

ถึงแม้ว่าความท้าทายในวันนี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเราทุกคน แต่วีซ่ามีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายมานานกว่า 60 ปีทั่วโลก  ณ วันนี้ วีซ่าและพันธมิตรทางธุรกิจของเราต่างมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัว และช่วยให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปด้วยกัน เพราะพวกเขาเหล่านั้นเปรียบเสมือนรากฐานของเศรษฐกิจไทย เราเชื่อมั่นในพลังของเครือข่ายวีซ่า และรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิดตัวอีกหนึ่งโครงการดีๆ อย่าง “Everyone Speaks Visa” ที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยพลิกให้ธุรกิจไทยฟื้นฟูและเติบโตต่อไป” นายสุริพงษ์ กล่าวสรุป

ใหม่กว่า เก่ากว่า