Microsoft จับมือ Depa ยกระดับทักษะดิจิทัลบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่เปิดโครงการ “Advancing the Future of Work” ขับเคลื่อนตลาดงาน EEC


บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และLinkedIn ประเทศไทย เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัล“Advancing the Future of Work” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการจ้างงานให้กับบัณฑิตอาชีวะรุ่นใหม่จำนวน 6,000 คน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ด้วยทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการของเหล่านายจ้าง ผ่านการฝึกอบรมอาจารย์จำนวน 120 คน จาก 60 สถาบันการศึกษา ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) พร้อมรับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่ตลาดงาน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์บนเว็บไซต์ Future Ready ASEAN

 

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์คือ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างประโยชน์แก่คนทุกคน ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไมโครซอฟท์จึงร่วมมือกับพันธมิตร 5 หน่วยงาน ในการส่งเสริมทักษะให้กับบัณฑิตอาชีวะ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสอนทักษะเชิงดิจิทัลสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) ด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ 2 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกอบรมการวิเคราะห์ข้อมูล ระยะเวลา 3 วัน โดยเน้นสอนการใช้งาน Excelและ Power BI ขั้นสูง และการฝึกอบรมโค้ดดิ้งเพื่อสร้างแอปพลิเคชัน ระยะเวลา 2 วัน โดยเน้นสอนวิธีการใช้ HTML5และ CSS


นางสาวจิน ฮี เบ Microsoft Philanthropies Lead ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งการเติบโตเชิงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการเพิ่มผลิตผลในการดำเนินงานและรายได้โดยรวมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการรายงานว่าองค์กรที่นำ AI มาปรับใช้ในเชิงรุกสามารถเพิ่มผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมจากทุกภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 15 ในขณะที่การนำ AI มาปรับใช้นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จากจำนวนร้อยละ 8 ของธุรกิจในปี 2560 สู่ร้อยละ 14 ในปี 2561 ไมโครซอฟท์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตอาชีวะ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีความจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต

 

จากผลการศึกษา ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2571 มีภาคอุตสาหกรรมที่ถูกคาดการณ์ว่าจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี AIและการนำเครื่องจักรมาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ (Automation) มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม (ร้อยละ 15) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ร้อยละ 12) ภาคอุตสาหกรรมการค้าส่งและค้าปลึก (ร้อยละ 10) ซึ่งสังเกตได้ว่าล้วนแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรูปแบบเป็นกิจวัตรและการทำงานแบบวนซ้ำ


ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ดีป้า มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในทุกระดับ เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดปัญหาการว่างงาน โดยข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากร (ธันวาคม2562) พบว่า ผู้ว่างงาน 367,000 คน (จากจำนวนกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38.21 ล้านคน) ผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราว่างงาน ร้อยละ 5.2 และ จำแนกตามระดับการศึกษา มีผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษา 1.48 แสนคน (ร้อยละ 1.8 ) ระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า 0.76 แสนคน (ร้อยละ 1.2) ซึ่งสะท้อนปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่หรือวัยเริ่มทำงานเป็นความท้าทายในการพัฒนา คนตรงงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะดิจิทัลของนักเรียน นักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาทักษะดิจิทัลบัณฑิตอาชีวะ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และด้านโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน โดยครูอาชีวะจาก 60 สถานศึกษาที่ผ่านโครงการ จะเป็นบุคลากรสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะดิจิทัลสู่นักเรียนอาชีวะ กว่า 6,000 คน ก่อนจบการศึกษา ซึ่งนับเป็นการเตรียมพร้อมของบัณฑิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการลดจำนวนผู้ว่างงานอีกด้วย”

 

บัณฑิตอาชีวะจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะจากการสอนของบุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) พร้อมโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์บนเว็บไซต์ Future Ready ASEANซึ่งถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน และเมื่อจบหลักสูตรการอบรม จะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อเป็นการรับรองทักษะเชิงดิจิทัลที่ได้เรียนรู้จากโครงการ ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรทั้ง 6 องค์กร ทั้งยังมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ภายหลังจากจบโครงการทันที


 นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชันกล่าวว่า ในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครมีสถานที่ตั้งอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี และระยอง โดยครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 1,200 โรงงาน ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางแหล่งงานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงาน ทั้งด้านสายการผลิต หัวหน้างาน ช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่สานักงาน และอื่น ๆ จากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ชำนาญการด้านเทคนิคเฉพาะด้าน เพื่อรองรับการเติบโตและปรับตัวเข้าสู่การทำงานในรูปแบบดิจิทัลโดยการใช้หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) ในการผลิตควบคุมคุณภาพการสินค้าและผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องสาคัญ เพื่อยกระดับการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ และหวังว่านิคมอุตสาหรรมอมตะจะได้บุคลากรคุณภาพจากโครงการนี้เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศต่อไป


นายสิทธิศักดิ์ น้อยสปุ๋ง นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 สาขาอีเล็คทรอนิกส์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า ตอนนี้ผมกำลังเรียนอยู่สาขาอิเล็คทรอนิกส์ และมีความฝันว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ผมอยากทำงานในแผนกซ่อมบำรุงของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และผมได้สังเกตเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา โรงงานต่างๆ เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น ผมจึงรู้สึกว่าการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นทักษะติดตัวที่มีความสำคัญในการพิจารณารับพนักงานเมื่อไปสมัครงาน เพราะทักษะนั้นสามารถนำไปปรับใช้ในการควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานได้”


นางสาวอรวรี ศรีมายา นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 สาขาคอมพิวเตอร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) กล่าวว่า หนูคิดว่าทักษะเชิงดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญในการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับตัวเอง และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะเลือกเข้าทำงานมากกว่าผู้อื่น ตอนนี้หนูกำลังศึกษาอยู่ในสาขาคอมพิวเตอร์ และคาดหวังว่าจะได้ทำงานแผนกไอทีในอนาคต จึงคิดว่าทักษะเชิงดิจิทัลที่จะได้รับจากโครงการนี้จะมาช่วยต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เรียนในห้องเรียน และขยายขีดความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้นจากความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนแอปพลิเคชัน

ใหม่กว่า เก่ากว่า